ฟังแล้วจำเลยนำไปเขียน 05 Dream Theater - Octavarium (2005)
ฟังแล้วจำเลยนำไปเขียน 05
รอบนี้เราจะมาพูดถึงวงที่เปรียบเสมือนครูของใครหลายคน และเชื่อว่าคงมีหลายคนท้อแท้เวลาที่จะต้องศึกษาหรือทำความเข้าใจกับสัดส่วนเพลงของวงนี้ “Dream Theater”
(จาก https://musicayoxigeno.files.wordpress.com/2020/09/dream-theater-banner-3_edited.jpg?w=1920&h=768&crop=1)
ผมเองได้รู้จักวงนี้ จากเพื่อนคนนึงในสมัยมัธยม จำได้ดีว่าตอนนั้นเรียนอยู่ ม.3 ช่วงหน้าหนาว แล้วได้รู้จักกับคลิปที่วงได้แสดงสด Instrumedley ในงาน Modern Drummer Festival เมื่อปี 2003 ที่หน้าปกคลิปเป็นลุง Mike Portnoy กำลังหวดกลองอย่างสะใจ
หลังจากนั้นก็ติดวงนี้อย่างงอมแงมพอสมควรและได้ทำความรู้จักกับวงนี้อย่างจริงจัง เมื่อได้ดำดิ่งสู่จักรวาล อัลบั้ม Metropolis pt.2: Scene from Memory อัลบั้มนี้เสมือนเชื้อเพลิงอันแรกที่ก่อขึ้นภายในจิตใจให้บ้ากับวงนี้มาจนถึงปัจจุบัน ด้วยเพลงที่มีความแพรวพราวและไพเราะ รวมถึงความเวอร์วังอลังการของมัน ที่ยากจะบรรยาย แต่รู้แค่ว่ามันสุดยอดมาก
หลังจากที่ผมฟังมาได้พอสมควร ผมก็ได้รู้จักเพลง Panic Attack ซึ่งเป็นคลิปเล่นแบบ Playthrough ของลุง Portnoy และได้รู้เพิ่มเติมว่าเพลงนี้เป็นส่วนหนึ่งของอัลบั้ม Octavarium และรอบนี้เราจะพูดถึงอัลบั้มนี้กันครับ
Octavarium เป็นอัลบั้มที่ผมฟังค่อนข้างช้า ถ้าเทียบกับอัลบั้มอื่นๆ แต่ส่วนตัวที่ทำให้ชอบอัลบั้มนี้เป็นอย่างมากก็ตอนที่รู้ว่า Concept ในอัลบั้มนี้คือ เพลงทุกเพลง จะมี Key Signature ประกอบเอาไว้เพลงละ 1 Key Signature ของคีย์ F โดยเพลงแรกจะเป็นคีย์ F และเพลงสุดท้ายก็จะวนมาจบที่คีย์ F เช่นเดิม และสิ่งที่น่าสนใจ คือ เป็นอัลบั้มชุดที่ 8 มี 8 เพลง 8 กุญแจเสียง หรือที่คนไทยเรียกกันถนัดปากว่า "คีย์" วนไปทั้งอัลบั้ม จนครบ 1 Octave นั่นเอง
จำได้ว่าตัวเองเริ่มมีความสนใจที่มากขึ้นและอยากฟังลึกๆ ผลปรากฎว่ามันเป็นอัลบั้มที่ลงตัวและพอดีอย่างไม่น่าเชื่อ ทุกเพลงมีความแพรวพราวแต่มันมีความไพเราะที่ลงตัวมากจนพิศวง มันให้อารมณ์เหมือนเรากำลังฟัง Dark Side of The Moon งานชิ้นทองของวงดนตรีระดับโลกนาม Pink Floyd ที่ฟังได้ซักพักรู้ตัวอีกที เราก็ได้เดินทางมาถึงเพลงสุดท้ายเสียแล้ว
ในช่วงตอนจบของบางเพลง ทางวงจะใช้เสียง Interlude ที่คีย์สูงกว่าคีย์หลักของเพลงนั้นอยู่ครึ่งเสียง เป็นตัวเชื่อมสู่เพลงถัดไป เช่น เพลงแรกใช้คีย์ F ตอนจบก่อนส่งเพลงถัดไปจะใช้ คีย์ F#/Gb เพื่อส่งเพลงถัดไปที่เล่นด้วย คีย์ G
เอาล่ะ เราจะเริ่มมาเจาะลึกแต่ละแทร็คในอัลบั้มนี้กันเลย
—--------------------------------------
รีวิวแบบ Track by Track
(จาก https://m.media-amazon.com/images/I/51I4Nl3oNrL._UF1000,1000_QL80_.jpg)
Track 01 The Root of All Evil (8:25) Key F
VI: Ready
VII: Remove
ชื่อเพลงในความหมายทางดนตรี Mike Portnoy ตั้งใจเป็นตัวแทนของ Root ในทางศัพท์ดนตรี ซึ่งจะเป็นโน๊ตตัวแรกเวลาที่ต้องการประพันธ์เพลงนั่นเอง
แป่ง!!! เสียงคีย์บอร์ดดังขึ้นมา พร้อมกับเสียง Synthesizer คอยอบอวลอยู่ในหู หากใครรู้เบื้องหลังเพลงนี้ ก็คือหากเราฟังเพลง In the Name of God จากอัลบั้ม Train of Thought ที่ออกจำหน่ายสู่โลก เมื่อปี 2003 นั้น ถ้าใส่หูฟังและฟังภายในห้องเงียบๆนั้น เราจะพบว่าตอนจบจะมีการกดโน๊ต F บนคีย์บอร์ด ซึ่งเป็นเสียงเดียวกับอินโทรแรกของเพลงในอัลบั้มนี้นั่นเอง
เสียงกลองตีกระหึ่มขึ้นมา หลังจากทางวงก็ได้บรรเลงตระบันริฟฟ์กันอย่างหนักหน่วงแบบพอรับได้ ในส่วนของเพลงนี้เป็นบทเพลงชิ้นที่ 3 ในมหากาพย์ 12 Step-Suite มี 2 ตอนแยกได้แก่ VI: Ready และ VII: Remove
12 Step-Suite เป็นมหากาพย์ที่เล่าเรื่องของการบำบัดสุราเรื้อรังของ Mike Portnoy โดยมีทั้งหมด 5 บทเพลง ได้แก่ The Glass Prison, This Dying Soul, The Root of All Evil, Repentance, The Shattered Fortress ในแต่ละบทเพลงก็มีจะมีเนื้อเรื่องเล่าที่แตกต่างกันออกไป
ในช่วงกลางเพลงได้มีการโชว์พาร์ทโซโล่กันพอได้เสนาะหู และพอได้โชว์พาร์ทที่ประชันกันระหว่าง กีตาร์ของ John Petrucci และ คีย์บอร์ดของ Jordan Rudess ก่อนที่เพลงนี้จะจบลงก็ได้มีเสียงที่เรียกว่า Nature Sound เริ่มผันจากคีย์ F ไปเป็นคีย์ F#/Gb ก่อนจะเข้าสู่เพลงถัดไป
**Fun Fact ท่อนสุดท้ายของเพลงนี้คีย์บอร์ดที่กำลังบรรเลงนั้นคือ เพลง Octavarium ซึ่งเป็นจุดที่วงตั้งใจซ่อนเอาไว้**
Track 02 The Answer Lies Within (5:33) Key G
เสียงธรรมชาติและเสียงนกร้อง ได้ความรู้สึกของการปล่อยวาง บทเพลงบัลลาดที่พูดถึงการปล่อยวางกับชีวิต อะไรที่ยังคงมีรีบคว้ามันก่อนจะสาย เพลงคลอไปอย่างช้าๆ พร้อมกับกีตาร์ที่บรรเลงอย่างนุ่มนวล บทเพลงนี้ทางวงได้ตั้งใจให้เป็นเพลงขายประจำอัลบั้ม ซึ่งเป็นงานที่ทางวงมักจะทำอยู่ประจำตลอดที่ผ่านมา
ในช่วงท้ายของเพลงนี้ก็ยังคงมาในลักษณะเช่นเดิมที่เพลงจบลงอย่างไพเราะแล้ว หลังจากนั้นมีเสียง ครืด คลอไปในหูของเรา และเพลงก็เริ่มผันเปลี่ยนคีย์ไปสู่ G#/Ab ก่อนจะเข้าสู่เพลงถัดไปเช่นเดิม
Track 03 These Walls (7:36) Key A
เสียง Ambient คลอไปมาพร้อมกับเสียงกีตาร์ที่ดันคันโยกให้หย่อนแล้วเริ่มดึงกลับมาเสียงเดิมอีกครั้ง ก่อนจะเริ่มริฟฟ์แรกด้วยลูกกรู๊ฟเท่ๆ ก่อนที่จะหยุด และมีเสียงแฮทเหยียบ หลังจากนั้นเพลงก็ดำเนินอย่างหนักหน่วงโดปนกับความไพเราะที่ควบคู่ตีกันไป เพลงนี้ได้อารมณ์ของเพลงร็อคส่วนใหญ่ในยุค Milennium ที่เรามักจะได้ยินกัน
จุดที่ผมเองค่อนข้างชอบกับเพลงนี้ คือ ลูกส่งกลองในแต่ละช่วงก่อนเข้าฮุค Portnoy ถือว่าทำไว้ดีเป็นอย่างมาก ด้วยลูกกลองหลากสไตล์ เป็นอีกเพลงที่ค่อนข้างแนะนำ เป็นเพลงหนักที่ฟังง่าย ในช่วงท้ายจบเพลงจะมีเสียงนาฬิกาดัง คล้ายกับเสียงนาฬิกาที่เราคุ้นเคยในอัลบั้ม Metropolis Pt.2 : Scene form Memory และผมเองก็เชื่อว่าทางวงก็ได้รับอิทธิพลจากเพลง Time ที่บรรจุไว้ในอัลบั้มร็อคที่โด่งดังตลอดกาล The Dark Side of the Moon ของ Pink Floyd นั่นเอง
Track 04 I Walk Beside You (4:29) Key B
บทเพลงที่ให้กำลังใจ และเป็นเพลงขายของอัลบั้มอย่างแท้จริง เพลงดำเนินด้วยทางดนตรีที่ฟังง่าย เป็นเพลงที่สั้นที่สุดในอัลบั้ม ส่วนตัวผมเองนั้นเฉยๆกับเพลงนี้ แต่เนื้อหาค่อนข้างที่จะดีมาก แม้ว่าจะเจอปัญหาหนักหนาจะยังคงมีวงดนตรีหรือสิ่งที่เราชอบอยู่เคียงข้างเราไปตลอดนั่นเอง
จบหน้า A ด้วยบทเพลงที่ฟังง่ายและเน้นขายส่วนใหญ่ หลังจากนี้จะเริ่มเข้าสู่เพลงปล่อยของอย่างแท้จริง
Track 05 Panic Attack (8:13) Key C
ไลน์เบสอารัมภบทขึ้นมาจากปลายนิ้วของ John Myung เทพหน้านิ่งพูดน้อยเล่นหนัก ก่อนที่จะตะบันกันใส่ไม่ยั้ง ด้วยกีตาร์ 7 สาย ทุ้มๆจาก John Petrucci พร้อมกับเสียงเบิ้ลกระเดื่องของ Mike Portnoy ที่ตะบัน รวมถึงโชว์หวดกลองที่พอจะเดาทางได้ เสียงคีย์บอร์ดจาก Jordan Rudess ที่ตั้งเป็นเสียง Synthesizer พร้อมลูปที่อบอวลในหู
ช่วงกลางของเพลงมีการสลับกันโซโล่กันไปมา ระหว่างกีตาร์และคีย์บอร์ด ในทางด้านของกลองและเบสยังคงยึดเกาะกันไว้อย่างเหนียวแน่น ก่อนที่ตอนจบจะจบไปอย่างสมบูรณ์แบบ หลังจากนั้นก็มีเสียงลูปขึ้นมา ซ้ำวนไปมา ก่อนที่จะมีเสียง Syn. เช่นเดิมมาคลออยู่ในหู และเริ่มผันคีย์จาก คีย์ C ไปสู่ คีย? C#/Db
Track 06 Never Enough (6:46) Key D
Synthesizer ยังคงมีบทบาทหลัก ก่อนที่ลูกกลองจะส่งมาต่อและตระบันกันอย่างสนุกสนานอีกเช่นเคย สังเกตได้ว่าเพลงนี้จะมีความคล้ายกับวง Muse ในเรื่องของวิธีการร้องโดย James Labrie และภาคดนตรีโดยรวม เป็นอีกที่กีตาร์โซโล่มีความเท่โดยใช้วิธีการเล่นที่มีความเป็น Noise Electric โดยรวมสำหรับเพลงนี้ ถือว่าเป็นเพลงคั่นอารมณ์สำหรับอัลบั้มนี้ แต่ไม่ค่อยโดนใจเท่าไรเป็นการส่วนตัว
ในช่วงตอนจบของการ เป็นการจบแบบปล่อยเสียงดนตรีลากยาว และเริ่มเสียงบทคุยหรือบทสนทนาที่เป็นข่าวในเหตุการณ์ 9/11 ทับซ้อนสลับกันไปมา โดยไม่สามารถแบ่งแยกเสียงได้ชัดเจนว่าเป็นบทสนทนาอะไรกันแน่
Track 07 Sacrificed Sons (10:42) Key E
บทเพลงนี้เป็นการเล่าเรื่องราวจากเหตุโศกนาฏกรรมที่โด่งดังเป็นอย่างมากในปี 2001 นั่นคือ เหตุการณ์ 9/11 เพลงนี้จึงเป็นการเล่าย้อนกลับไปเพื่อเป็นการลำลึกต่อเหตุการณ์ในครั้งนั้น
เสียงคีย์บอร์ดกดขึ้นมาด้วยอารมณ์ของความหลอน ก่นอที่จะเริ่มขึ้นมาเรื่อยๆ อย่างเนิ้บๆ ลักษณะของโครงเพลงมีความคล้ายคลึงแบบมาจาก เพลง One หรือ Welcome Home (Sanitarium) วงเมทัลยุคเก๋านาม Metallica ที่ช่วงต้นจะเป็นเพลงเบาก่อนที่จะตะบันช่วงท้ายของเพลง
ในพาร์ทช่วงหลังของเพลง จะเป็นพาร์ทดนตรีแบบเพียวๆ ต่างคนต่างได้โชว์ความยิ่งใหญ่ของดนตรีอย่างเต็มที่ รวมไปถึงมีเสียงบรรเลงเครื่องสายจากวง Symphony ซึ่งเป็นคณะของ Jamshied Sharifi ซึ่งเป็นเพื่อนของ John Petrucci, Mike Portnoy และ John Myung สมัยเรียนกันที่ Berklee College of Music วิธีการทำงานร่วมทางวง Dream Theater ได้ทำการเขียนโน๊ตมาให้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และให้ทางวงคณะเครื่องสายบรรเลงด้วยวิธี Sight Reading หรือคำไทยที่หมายความว่าอ่านแบบเบื้องต้น แล้วเล่นเดี๋ยวนั้นเลยนั่นเอง เพลงบรรเลงมาอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งจบเพลงไปอย่างอิ่มเอม
Track 08 Octavarium (24:00) Key F in Octave
I: Someone Like Him
II: Medicate (Awakening)
III: Full Circle
IV: Intervals
V: Razor’s Edge
บทเพลง Title Track ที่มีความสมบูรณ์ที่สุด ไพเราะ และครบองค์ประกอบทั้งหนักและเบา มากที่สุด เชื่อว่าเป็นเพลงในใจของใครหลายๆคน สำหรับแฟนเพลงเดนตาย เพลงองค์รวมมีความฟังง่ายมากที่สุด เมื่อเทียบกับเพลงอื่นที่มีความยาว 20 นาทีที่ใกล้เคียงกัน เช่น A Change of Season หรือ Six Degrees of Inner Turbulence เป็นต้น
เปิดมาพาร์ทแรกของเพลง มีเสียง Lap Steel Guitar หากใครนึกให้นึกถึง กีตาร์ที่วางนอนเอาไว้ เหมือนที่ David Gilmour จากคณะ Pink Floyd ที่เอามาเล่นในอีกเพลงดังที่ชื่อว่า High Hopes คลออย่างต่อเนื่องยาวเกือบ 2 นาทีได้
โดยมีแต่เสียงคีย์บอร์ดที่บรรเลงจากนิ้วของ Jordan Rudess โดยอิทธิพลในการนำท่อนนี้มาใช้เราจะสามารถรับรู้ได้ทันทีว่า วงกำลังทำเพื่อเคารพเจ้าพ่อดนตรีร็อคตลอดกาลนาม Pink Floyd บทเพลง Shine on You Crazy Diamond Pt.1-5 จากอัลบั้ม Wish You were Here ที่ออกจำหน่ายสู่โลกเมื่อปี 1975 เพื่อตอกย้ำความสำเร็จเดิมจากอัลบั้ม The Dark Side of The Moon
หลังจากคีย์บอร์ดบรรเลงจนพาเราลอยไปสู่อีกจักรวาล หลังจากนั้นเสียงคีย์บอร์ดก็เปลี่ยนไปด้วยเสียงของ Continuum Fingerboard และเครื่องดนตรีก็บรรเลงอย่างกระหึ่มด้วยความอลังการจากกีตาร์ 12 สาย เราจะสามารถพบเห็น John Petrucci ใช้กีตาร์ตัวนี้ ได้จากเพลง Solitary Shell หนึ่งในมหากาพย์ของ Six Degrees of Inner Terbulence ที่ออกวางจำหน่ายเมื่อปี 2002 และมีการนำมาอัดในเพลง Regression จากอัลบั้ม Metropolis Pt.2 รวมถึงมีการอัดในอัลบั้ม The Astonishing อีกด้วย ก่อนพาร์ทดนตรีจะผ่อนลงเบาเข้าสู่เนื้อหาของมหากาพย์นี้
เริ่มเข้าสู่พาร์ทที่ 2 จังหวะ Groove ของกลอง และเสียงเบสที่คลอกันไปมาเลี้ยงไปด้วยกันตลอดเพลง พร้อมเทคนิคการเล่นเสียง Harmonic ที่เป็นลายเส้นของ John Myung เพลงดำเนินมาเรื่อยๆ จนกระทั่งดนตรีเริ่มสีสันอีกครั้ง ด้วยเสียงคีย์บอร์ดที่คลอไปมา พร้อมกับกลองที่ใส่ลูกเล่นเข้าไปตลอดทั้งเพลง ก่อนที่จะเริ่มตะบันดนตรีหนักขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งเข้าช่วงพีคที่สุดของเพลง
พาร์ทที่ 3 จะเป็นการใช้เนื้อเพลงที่แสดงคาราวะถึงวงก่อนหน้าที่มีอิทธิพล เช่น Pink Floyd, The Beatles, Genesis, Ramones, Yes, The Doors Neil Young, The Who รวมถึงการกล่าวถึงสมาชิกในวงดนตรีดัง เช่น Ripper Owens นักร้องเก่าของวง Judas Priest รวมถึงการเอ่ยถึงชื่อเพลงระดับตำนานอย่าง Lucy in the Sky with Diamonds จากคณะ The Beatles การเดินคีย์บอร์ดจะมีความคล้ายคลึงกับเพลง In The Cage จากคณะ Genesis
ช่วงโซโล่ของเพลง มีความอิมแพค และความซับซ้อนด้วยหลากหลายสไตล์ทางดนตรีอย่างจัดจ้าน มีการแอบใส่เพลง Jingle Bells แทรกเข้าไปเป็นการละเล่นตลกขบขันไป ก่อนที่จะถึงช่วงที่มีความสำคัญสำหรับเพลงนี้ และอัลบั้มนี้
ช่วงพาร์ทที่ 4 ของ James Labrie กำลังพูดสลับวนกับ Mike Portnoy ถ้าเราฟังเผินๆจะเป็นเนื้อหาเพลงที่พูดไปในระหว่างเพลง แต่หากอ่านเนื้อเพลงอย่างเจาะลึก และเปรียบเทียบ เราจะพบว่า เนื้อเพลงที่ปรากฎในช่วงนี้ เป็นเนื้อเพลงก่อนหน้าที่ปรากฎมาทั้งหมด 7 เพลงนั่นเอง รวมถึงเมโลดี้ของดนตรีก็มีส่วนผสมของเพลงก่อนหน้าแทรกคลอเอาไว้เป็นพื้นหลัง
ในแต่ละช่วง Mike Portnoy จะคอยพูดศัพท์ทางดนตรีคลออยู่ตลอด โดยมี Root, Second, Third, Fourth, Fifth, Sixth, Seventh และ Octave กับการเล่าเรื่องของ James Labrie จะเป็นเนื้อหาที่เคยปรากฎมาแล้วจากเพลงก่อนหน้าทั้งหมด
ในช่วงพีคสุดท้ายทั้งหมด James Labrie จะพูดคำว่า “Trapped Inside in Octavarium” เป็นการสื่อนัยยะของคำว่า เรานั้นยังคงอยู่ในวังวนของมหากาพย์นี่อย่างต่อเนื่อง และทุกเพลงที่เราฟังมาก่อนหน้า ทุกเพลงทีการยืมและนำเมโลดี้มาใช้วนเวียนอยู่ตลอด และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เหมือนกับการสร้างคอร์ดที่เพิ่มโน๊ตจนเกิดเป็นคอร์ดที่สมบูรณ์ ก่อนที่ James Labrie จะตะบันเสียงด้วยคีย์ F# ที่มีความคล้ายคลึงกับท่อนในตำนานจากเพลง Learning to Live จากอัลบั้มอมตะ Images and Word ที่ออกเมื่อปี 1992
เสียงบรรเลงของวงเครื่องสาย Symphony กลับมาตะบันอีกครั้งในส่วนของพาร์ทที่ 5 ของเพลง พร้อมกับเนื้อหาเพลงที่สรุปทั้งหมดของอัลบั้มนี้ เป็นนัยยะของการบอกถึง “จุดสิ้นสุดของจุดเริ่มต้น” ที่ทางวงต้องการแสดงให้เราเห็นว่าอัลบั้มนี้จะเล่นไปโดยแบบไม่มีวันจบนั่นเอง
ช่วงสุดท้ายกีตาร์โซโล่ที่โคตรจะเท่ได้ตะบี้ตะบัน และขยี้ไปอย่างต่อเนื่อง จนถึงจุดที่สูงที่สุดของเพลงนี้ หากใครได้ดูฟุตเทจคอนเสิร์ตครอบรอบ 20 ปี Dream Theater Live Score ด้วย บอกเลยว่าโซโล่ท่อนนี้เพราะและขลังมากขึ้นล้านเท่า
(จาก https://dreamtheater.net/wp-content/uploads/2017/07/score-background.jpg)
ตอนจบของเพลงมีการแอบใส่เสียง คีย์บอร์ดที่กดด้วย โน๊ต F อีกครั้ง ที่เหมือนท่อนแรกของเพลง The Root of All Evil นั่นเอง
โดยอัลบั้มนี้เป็นอัลบั้มสุดท้ายที่ทางวงตัดสินใจไม่ใช้เสียงหรือคอร์ดเดียวกันเพื่อส่งต่ออัลบั้มต่อไป โดยเพลงแรกที่ทางวงเริ่มทำคือ ท่อนสุดท้ายของเพลง Finally Free จบด้วยเสียงของแผ่นเครื่องเสียงหลุดออกจากตัวอ่านแผ่น ก่อนจะส่งต่อด้วยอินโทรเพลง The Glass Prison และตอนจบของอัลบั้มนี้ก็ใช้เสียง Fade Out ของเครื่องสาย จากมหากาพย์ 42 นาทีอย่าง Six Degrees of Inner Terbulence ก่อนจะส่งต่อด้วยเสียง Fade In เข้าสู่เพลง As I Am ในอัลบั้ม Train of Thought ทางวงได้ตัดสินใจเพื่อตัดจบมหากาพย์ในครั้งนี้เพื่อไม่ให้เกิดข้อจำกัดในการสร้างสรรค์ของวงที่อาจจะรัดกุมมากจนเกินไป โดยแนวคิดได้รับอิทธิพลจากวง Van Halen อัลบั้มชุด Women and Children First ที่ออกเมื่อปี 1980
แต่ถ้ามองอีกมุม คือ ทางวงได้มีการย้ายค่ายไปอยู่ Roadrunner Record ค่ายเพลงที่มีวงร็อคและเมทัลระดับตำนานมากมายอย่าง Slipknot, Korn, Machine Head เป็นต้น
—-------------------------------------------
อัลบั้ม Octavarium ถือว่าเป็นอัลบั้มที่มีเนื้อหาและพาร์ทดนตรีที่ละเอียดยิบย่อยเป็นอย่างมาก หากไม่ได้ศึกษาลึกมาขนาดนั้น ก็อาจจะมองเพียงว่าทางวงตัดสินใจทำเพลงให้สั้นลงเพื่อยอดขายที่ดีขึ้น แต่ความจริงนั้นมีรายละเอียดที่ซ่อนอยู่ในอัลบั้มนี้เยอะมาก (นี่ขนาดยังไม่รวมมหากาพย์ 12 Step-Suite ที่เล่าเรื่องเดียวกัน แต่แยกในแต่ละอัลบั้มอีกที ทั้งหมด 5 อัลบั้มด้วยกัน)
ให้คะแนนส่วนตัวที่ 9/10 ข้อดี คือ ลายเส้นของวงยังคงชัดเจน รายละเอียดลึกซึ้งและเจ๋งในทางด้าน Concept ที่วงได้ตั้งใจทำกันไว้กับอัลบั้มนี้ ทุกเพลงมีความลงตัวในการเรียงแทร็คทั้งหมด 8 แทร็ค รู้สึกว่าไม่มีเพลงไหนที่อ่อนที่สุดในอัลบั้มนี้เลย ข้อเสีย คือ เรื่องเดียว เพลงมันเบาลงไปเยอะ เมื่อเทียบกับชุดก่อนหน้า ในมุมส่วนตัวนะ แต่อัลบั้มนี้ก็ถือว่าเป็นอีกสุดยอดของวงที่เคยทำเอาไว้นั่นเอง
ท้ายที่สุดของจริงแล้ว เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน ที่ผ่านมา ได้ครบรอบ 18 ปี ของสุดยอดอัลบั้มมหากาพย์ 8 คีย์ทางด้านดนตรี และเนื้อหาในการหาตัวตนว่าแท้จริงแล้ว จุดจบมีจริงหรือไม่ หรือมันเป็นเพียงจุดเริ่มต้นใหม่
ขอให้สนุกกับการอ่านบทความชิ้นที่ 5 ครับ
เพลงที่แนะนำ : Panic Attack, Sacrificed Sons, Octavarium (Anyway วงนี้ควรฟังแบบเรียงกัน เพราะเนื้อหามันเชื่อมติดกันหมด เหมือนคุณดูหนัง)
Comments
Post a Comment