ฟังแล้วจำเลยนำไปเขียน 07 Nirvana - Bleach (1989)

ฟังแล้วจำเลยนำไปเขียน 07


3 เกลอจากเมืองซีแอตเทิล ผมเชื่อว่าหลายคนน่าจะรู้จักเขาจากเพลงที่สร้างชื่อให้กับพวกเขา รวมไปถึงได้มีส่วนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของวงการอย่างเพลง Smell Like Teen Spirit และครั้งนี้เราจะพูดถึงวง Nirvana ครับ



(จาก https://cms.kerrang.com/images/Nirvana_1989_2.jpg)

แต่อัลบั้มที่เราจะพูดถึงนั้น ไม่ใช่อัลบั้มหรือเพลงที่สร้างชื่อให้กับพวกเขา แต่มันคือก้าวแรกที่ทำให้สถานภาพของวงเริ่มสามารถจับพลัดจับพลูกับฐานที่วงมี ก่อนจะโด่งดัง (แบบไม่ได้ตั้งใจ) ในเวลาต่อมา ซึ่งเราจะพูดถึงอัลบั้มที่มีชื่อว่า “Bleach” ก้าวแรกของ 3 เกลอ ที่ 2 ปีต่อมา พวกเขาจะเปลี่ยนวงการดนตรีโลกไปตลอดกาล


อัลบั้ม Bleach ออกเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 1989 ออกกับค่าย Reciprocal Recording ภายในอัลบั้มมีบทเพลงที่พอจะสร้างชื่อเสียงให้กับวง ได้แก่ School, Love Buzz, About a Girl ลักษณะของเพลงโดยรวมในอัลบั้มจะมีความเป็นร็อคแบบดั้งเดิม และบางเพลงค่อนข้างออกไปทางแนวเมทัลเสียด้วยซ้ำ


อัลบั้มนี้ได้ทำให้วง Nirvana เริ่มมีชื่อเสียงที่มากขึ้นจากเดิม ด้วยฐานแฟนเพลงที่พอมีอยู่แล้วจากการตระเวนเล่นไปทั่วเมืองซีแอตเทิล รวมไปถึงเริ่มมีแนวทางของดนตรีที่ไปในสไตล์พังก์ผสมกับร็อค ก่อนที่จะประสบความสำเร็จและเกิดแนวดนตรียุคใหม่ที่เรียกกันว่า กรั้นจ์ (Grunge) ในอัลบั้ม Nevermind (1991)


ตัวผมเองได้รู้จักกับวง Nirvana ก็คงจะเหมือนหลายๆคน ผมรู้จักเพราะได้เจอกับอินโทรกีตาร์ในตำนานอย่าง Smell Like Teen Spirit และอัลบั้ม Nevermind ก่อนที่หลังจากนั้นผมเองก็ไล่ตามฟัง จนกระทั่งได้ฟังอัลบั้มนี้ (Bleach) ตอนช่วงมหาลัย 


เดี๋ยวเรามาพูดถึงแต่ละแทร็คภายในอัลบั้มนี้กันเลยดีกว่า


—-----------------------------------


รีวิวแบบ Track by Track 


อัลบั้ม Bleach มีความยาว 37:19 11 แทร็ค และมีโบนัสแทร็คเพิ่มมาอีก 2 แทร็ค ภายในอัลบั้มทุกเพลงเริ่มต้นจากการเขียนของ Kurt Cobain และเกิดจากการแจม (Jam) กันทั้งหมด มือกลองที่อัดอัลบั้มนี้คือ Chad Channing และมีมือกลองอีกคนคือ Dale Crover ที่อัดอยู่ 3 แทร็ค ได้แก่ Floyd the Barber, Paper Cuts และ Downer รวมถึงปกอัลบั้มเราจะเห็น Jason Everman อยู่ทางขวาของปกอัลบั้ม แต่เขากลับไม่ได้มีบทบาทในการอัดเพลงเลยแม้แต่น้อย



(จาก https://s3.amazonaws.com/arc-wordpress-client-uploads/infobae-wp/wp-content/uploads/2019/06/14153733/Nirvana.jpg)


(จาก https://eddiesrockmusic.files.wordpress.com/2022/01/nirvana-bleach-back.jpg)

Track 01 Blew (2:55)

ซิงเกิ้ลแรกที่โปรโมทอัลบั้ม เสียงเบสหนักแน่นได้เปิดขึ้น พร้อมกับเสียงกีตาร์ที่ตามมาด้วยกับกลองแบบหน่วงๆ เพลงโดยรวมเป็นเพลงโยกแบบหนึบๆแน่นๆ ได้กลิ่นอายของความเป็น Doom และ Stoner แบบอ่อนๆ  เป็นเพลงที่ผมเองชอบส่วนตัว ด้วยไลน์เบสที่ไม่ได้ซับซ้อนแต่หนักหน่วง ในลายเส้นของ Krist Noveselic 


การตั้งสายของเพลงนี้ คือ Drop C ดังนั้นเราจึงสัมผัสได้ว่าเพลงนี้มีความหนักแบบแหม่งๆ ซึ่งเนื้อหาของเพลงนี้คือการเล่าถึงเส้นทางชีวิตที่มันไม่เป็นตามที่ต้องการได้ แม้ว่าเราจะมีมันอยู่แล้วก็ตาม แต่การไขว่คว้าหรือการแหวกขนบบางอย่างที่เหมือนกับการเป่าอะไรซักอย่างออกไป นั่นแหละคือเส้นทางของชีวิต ที่แม้จะสามารถทำตัวยิ่งใหญ่ได้ แต่เลือกที่จะไม่ทำ


Track 02 Floyd the Barber (2:18)

เสียงกีตาร์หอนแรกเริ่ม ตามด้วยกลองที่ตีกระหึ่มตามมา เป็นอีกเพลงที่โยกหัวได้เบาๆอีกเช่นกัน พอมีจังหวะให้ได้โยกกัน โดยรวมเป็นเพลงที่ไม่ได้น่าสนใจอะไรมากมายนัก (ส่วนตัว)


บทเพลงที่เล่าถึงรายการโทรทัศน์ The Andy Griffith Show ในปี 1960 โดย Kurt ได้นำฉากเรื่องราวภายในรายการของตัวละครจะไปตัดผม แต่กลับจบลงด้วยการถูกจับเป็นเชลย จากนั้นถูกทรมาน และกระทำที่ไม่ดี Kurt จึงนำประเด็นนี้มาเล่นในเรื่องของสถานภาพทางสังคมในช่วงยุค 50 ที่เป็นช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยเนื้อหาที่คมคายกึ่งปรัชญา


**NME ได้รายงานหลังจากการพบร่างไร้วิญญาณของ Kurt Cobain ในปี 1994 โทรทัศน์บริเวณที่ใกล้เคียงได้เปิดรายการดังกล่าวออกไป เลยสันนิษฐานว่า นั่นน่าจะเป็นภาพสุดท้ายที่ Kurt เห็นก่อนที่จะ Shut Down ในวัยเพียง 27 ปี** 


Track 03 About a Girl (2:48)

เพลงที่ดังที่สุดในอัลบั้มนี้ และเป็นรากฐานสำคัญให้กับวงก่อนที่จะเกิดเพลงลักษณะนี้ในยุคต่อมาเฉกเช่น Come as You Are, Something in the Way, Heart-Shaped Box, All Apologies, Pennyroyal Tea เป็นต้น ซิงเกิ้ลที่ 3 ในการโปรโมทอัลบั้ม 


บทเพลงนี้เป็นเพลงที่ Kurt แต่งถึงแฟนสาวคนเก่าอย่าง Tracy Marander ซึ่งเธอเป็นผู้หญิงที่ชอบในตัวตนของ Kurt แต่ทางตัว Kurt เองรู้สึกว่าความสัมพันธ์มองไกลแค่ไหนยังไงก็ไปกันไม่รอด และด้วยปัจจัยหลายอย่างในการอยู่ร่วมกันแล้วแสดงให้เห็นว่าทั้งคู่เกิดความขัดแย้งด้วยกันบ่อย ผนวกกับทาง Marander เคยถาม Kurt ว่าทำไมไม่มีเพลงที่แต่งถึงเธอบ้างเลย Kurt จึงได้แต่งขึ้นมา แต่ทางของ Marander เพิ่งจะมาทราบเนื้อหาในเพลงนี้ทั้งหมดก็ตอนที่ได้อ่านสารคดีของ Nick Broomfield ในปี 1998 จากสารคดี Come as You Are: The Story of Nirvana ขณะที่ Kurt เอาเพลงนี้มาอัดเพื่อบรรจุเข้าไปอยู่ในอัลบั้มนี้ เพื่อนในวงก็ได้ถามว่าบทเพลงนี้มันเกี่ยวข้องกับเรื่องอะไร? Kurt ตอบเพียงแค่ว่า “It’s about a girl” หรือถ้าแปลเป็นไทยง่ายๆคือ “มันเกี่ยวกับผู้หญิงคนนึงน่ะแหละพวก”


ในช่วงแรก Kurt มีความประหม่าเล็กน้อยหากเอาเพลง About a Girl ใส่เข้าไปในอัลบั้ม Bleach ในเรื่องของการถูกมองว่าวงทำเพลงป๊อป จากช่วงที่ก่อนทำอัลบั้ม เหมือนอย่างที่กล่าวไปก่อนหน้าว่า Nirvana เริ่มมีชื่อเสียงพอสมควรในละแวกงานใต้ดินแล้ว แต่สุดท้ายทางวงก็ยืนหยัดที่จะใส่ลงไป เพื่อที่ทำให้เห็นว่า Nirvana เป็นมากกว่าวงกรั้นจ์ หรือเป็นวงที่จะตะเบงเสียงร้องอยู่ตลอดนั่นเอง  


Track 04 School (2:42)

บทเพลงหนักในอัลบั้ม ซึ่งทางวงมักจะเอามาเล่นบ่อยพอสมควร ในขณะโชว์ตามทัวร์ในที่ต่างๆ เพลงนี้เป็นอีกเพลงที่เป็นรากฐานให้กับเพลงเร็วของ Nirvana ในยุคต่อมา เช่น Breed, Stay Away, Territorial Pissings Very Ape, Radio Friendly Shifter, Tourette’s เป็นต้น เป็นเพลงที่สนุกและติดหูง่าย เป็นอีกเพลงที่แนะนำให้ได้ลองฟัง


Kurt ได้กล่าวถึงเพลงนี้ถึงการใช้ชีวิตในสมัยเรียน High School และสิ่งที่เขากำลังเห็นในขณะเล่นดนตรีร่วมกับวงนั่นก็คือ กลุ่มคนที่เคยทุบตีเขาในสมัยที่เขายังเรียนอยู่ หรืออีกความหมายคือ เป็นบทเพลงที่แต่งขึ้นมาเพื่อให้กำลังใจกับกลุ่มคนที่ยังต้องเจอกับการกระทำนี้อยู่ เพลงนี้ได้มีส่วนก่อให้เกิดเพลงโคตรดังในเวลาต่อมาอย่าง In Bloom 


Track 05 Love Buzz (Shocking Blue Cover) (3:35)

เป็นเพลงที่ไลน์เบสที่โคตรจะติดหูผม และเป็นเพลงแรกๆในชีวิตที่แกะเบส จำได้ว่าฟังครั้งแรกก็ชอบเลยด้วยเพลงที่มีลักษณะเป็นจังหวะโจ๊ะๆนิดนึง และสามารถแกะตามได้ค่อนข้างง่าย แต่ก็ค่อนข้างเซอร์ไพรส์ผม เพราะเพลงนี้คือเพลงที่ Nirvana ได้คัฟเวอร์จากวง Shocking Blue เป็นวงร็อคจากเมืองเนเธอร์แลนด์ ซึ่งแนวจริงๆของวงนี้คือเป็นแนว Psychedelic อ่อนๆ แต่ทาง Nirvana เอามาทำในแนวของ Heavy Pop-Sludge 


แม้ว่าในเวลาต่อมา Kurt จะบอกว่าเพลงนี้มันไม่มีความหนักหน่วงเลยซักนิด รวมถึงได้บอกว่า “มันช่างแย่และมันอนาถที่สุดที่เราเคยทำมันเสียด้วย ด้วยเสียงร้องที่ใสสะอาดและไม่มีเสียงการตะโกนเลยแม้แต่น้อย” 


Track 06 Paper Cuts (4:06)

เปิดมาด้วยกีตาร์หลอนหูแบบหนักๆ พร้อมกับกลองที่ตีกระหึ่มขึ้นมาคล้ายกับเพลง Floyd the Barber แต่เพลงโดยรวมมีกลิ่นอายของแนว Doom Metal  และ Psychedelic ทีปนกันไปมา เสียงที่ร้องแบบจับศัพท์ไม่ได้ของ Kurt ยิ่งทวีคูณให้เพลงนี้มีความหลอนและเดาไม่ได้ในเพลงนี้


แม้ว่าดนตรีจะมีความหลอนแล้ว เนื้อหาของเพลงนี้ก็โหดร้ายเช่นกัน เพลงบรรยายในเรื่องของเด็กน้อยที่เติบโตในบ้านที่มีหน้าต่างสีดำ ถูกทารุณ และขังในห้องใต้ดินของบ้านพ่อและแม่ของตัวเอง ซึ่งเนื้อหามีความคล้ายคลึงของความสัมพันธ์ระหว่าง Kurt และแม่


Track 07 Negative Creep (2:56) 


เนื้อหาของเพลงที่แสดงการต่อต้านสังคมที่เกิดขึ้นภายใต้จิตใจของ Kurt เป็นเพลงที่ผมชอบที่สุดในอัลบั้มนี้ ด้วยซาวนด์ของเพลงที่เปิดด้วยกีตาร์เล่นแบบสับกระจาย และเป็นเพลงที่เรียกได้ว่าเป็นแนวเมทัลได้เลย (ที่จริงผมชอบอีกเวอร์ชั่นที่วง Machine Head เอาไปคัฟเวอร์ ซึ่งโคตรสะใจ) บวกกับการร้องแบบแหกปากตะโกนเรียกได้ว่าถ้าเอาไปเล่นกันแบบวง เป็นเพลงที่โคตรมันส์ เพราะได้ปลดปล่อยทั้งพาร์ทของดนตรีและการร้องร้องที่แหกปากแบบไม่สนว่าคนฟังจะเป็นลูกใคร (หัวเราะ) ก่อนที่เพลงนี้จะจบออกไปแบบ Fade Out


Track 08 Scoff (4:10)

กลองขึ้นมาคล้ายกับเพลง You Really Got Me ของวงตำนานอย่าง The Kinks ซึ่งผมเองก็คิดว่าวงได้อิทธิพลจากเพลงนี้มา เป็นเพลงจังหวะปานกลางที่ค่อนข้างสนุก และจุดที่น่าสนใจคือ Chad ได้ตะบันกระเดื่องคู่แวบๆขึ้นมา ซึ่งในยุคต่อมาอย่างที่เรารู้ๆกันว่าทางวงไม่ได้ใช้จังหวะที่มีกระเดื่องคู่เข้าไปในเพลงอีกเลย 


เนื้อหาของเพลงค่อนข้างที่จะขัดกับลักษณะของดนตรี เนื้อหาที่เล่าถึงคนเป็นพ่อที่ขาดความรักจากลูกชาย โดยเนื้อหาจะมีความคล้ายคลึงกับเพลง Paper Cuts 


Track 09 Swap Meet (3:03)

Riff กีตาร์ของเพลงถ้าหากใครได้ฟังอัลบั้ม In Utero (1993) ก็จะรู้สึกได้ว่ามีคล้ายคลึงกับเพลง Very Ape เป็นเพลงที่กลิ่นอายค่อนไปทางเมทัลอีกเช่นเคย และเป็นเพลงที่ฟังได้สนุกดี


เพลงนี้ Kurt ตั้งใจเล่นแบบโหวกเหวกโวยวาย เพื่อให้แสดงถึงความยุ่งเหยิงที่เกิดขึ้นภายในจิตใจของตัว Kurt เอง ที่เกิดขึ้นมาอย่างไร้สาเหตุ และเนื้อหาก็ไม่ชัดเจนว่าเพลงนี้จะสื่อความหมายอย่างไร


Track 10 Mr. Moustache (3:24)

เป็นอีกเพลงที่ผมชื่นชอบเช่นกัน เหมือนกับ Negative Creep และ School กีตาร์เพลงนี้ใครที่เคยแกะ มักจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า สนุกและมันส์มาก ในทางกลองและเบสก็เช่นกัน ด้วยความที่เป็นเพลงเร็วและหนัก หากใครยังไม่เซียนระหว่างเล่นอยู่ต้องมีหลุดกันไปข้างด้วย Riff ที่วนไปวนมาเรื่อยๆ จึงค่อนข้างที่จะท้าทาย คนที่เล่นดนตรีสาย Nirvana มักจะนำเพลงนี้มาเล่นด้วย และกลุ่มคนที่ฟังแบบลึกๆ ก็จะเอาเพลงนี้มาอยู่ในลิสต์อันดับที่ชอบอยู่เสมอ รวมไปถึงจะเป็นเพลวที่มักอยู่ในกลุ่มจำพวก Underrated Riff อีกด้วย


ทางด้านเนื้อหาของเพลงเล่าถึงการ์ตูนที่ Kurt เคยชื่นชอบซึ่งขื่อเดียวกับเพลง โดยเล่าถึงชายหนวดที่มีนิสัยใจแคบกับตัวของ Kurt ในสมัยที่ยังเด็ก


Track 11 Sifting (5:22)

เป็นเพลงที่นานที่สุดของอัลบั้มนี้ เพลงเปิดขึ้นมาด้วยกลองตีอย่างเนิ้บๆ ตามด้วยกีตาร์และเบสเล่นเป็นลูก Chromatic ที่เล่นด้วยลูก Groove เป็นเพลงช้าที่หนักเล่นคลอไปเรื่อยๆ เป็นเพลงมีลักษณะของการแจมกันอย่างเห็นได้ชัด โดยรวมไม่ได้น่าสนใจอะไรมากเท่าไรนักสำหรับเพลงนี้


โดย Kurt ได้บอกเป็นเรื่องราวขบขันเอาไว้ว่า นอกจากเพลงนี้จะช้าแล้ว (Sifting) ยังมี Paper Cuts เป็นเพลงที่แม่งโคตรช้า โคตรน่าเบื่อ มันทำให้ผมสนใจแต่ 2 เพลงนี้ เพราะคนสนใจมันน้อย จนผมคิดไปเองว่าทั้งอัลบั้ม (Bleach) จะมีแต่เพลงแบบนี้และก็จะได้รับความนิยมน้อย


—--------------------------------------


**Bonus Track** 


2 แทร็คที่เหลือ เป็นเพลงที่ทางวงได้ตัดสินใจเอามาปล่อยในอัลบั้มฉบับ Re-Release  ในปี 1992


Track 01 Big Cheese (3:42)

เสียงกีตาร์ขึ้นมาแบบหมุน Volume เป็นเพลงที่เล่นจังหวะปานกลาง พอได้โยกกันนิดหน่อย ทาง Kurt Cobain ได้เล่าว่า เพลงนี้ถูกแต่งขึ้นมาเพื่อบอกถึงอาการถึงความกดดันที่มีอยู่ในห้องอัดจาก Jonathan Poneman ที่คอยมายุ่งเกี่ยวตลอดกับพวกเขาในขณะที่อัดอัลบั้มกัน


Track 02 Downer (1:43)

เพลงที่สั้นที่สุดในอัลบั้ม จะเห็นได้ว่าเพลงนี้จะมีกลิ่นอายของพังก์ผสมไปในเพลง เพราะเป็นเพลงที่ Kurt แต่งกับมือกลองคนก่อนหน้าอย่าง Dale Crover ในช่วงนั้น Kurt ยังต้องการเพลงที่มีลักษณะของแนวพังก์ที่เล่นกันสั้นๆ สมัยที่ยังก่อตั้งวงชื่อว่า Fecal Matter ในช่วงปี 1985 


**เพลงนี้ได้ปรากฎอีกครั้งในอัลบั้ม Incesticide ที่ออกเมื่อปี 1992 เป็นการรวมเพลงที่วงไม่ได้ใช้หรือที่เรามักเรียกติดปากกันว่า อัลบั้ม B-Side อยู่ในแทร็คที่ 10** 


—---------------------------------------


อัลบั้ม Bleach กลับมาได้รับความสนใจอีกครั้งหลังจากความโด่งดังของวงหลังปล่อยอัลบั้มก้องโลกอย่าง Nevermind ในปี 1991 และการเสียชีวิตของ Kurt Cobain ในปี 1994 ยิ่งทวีคูณให้ผู้คนกลับมาสนใจอัลบั้มนี้ แม้ว่าในช่วงที่ออกอัลบั้มใหม่ๆนั้น เรียกได้ว่าทางวงแทบจะต้องกินข้าวกับน้ปลาเพื่อให้อยู่รอดได้ไปในแต่ละวัน


แต่ยังไงซะอัลบั้มนี้ก็เป็นก้าวแรกของ 3 เกลอวัยรุ่นซีแอทเติล ที่เล่นดนตรีทำในสิ่งที่ชอบไปเรื่อยๆ โดยไม่รู้ว่าตัวเองนั้นจะโด่งดังแบบทะลุโลก จนได้รับฉายานามว่า King of Grunge 2 ปีต่อมา 



(จาก https://howlandechoes.com/wp-content/uploads/2016/10/nirvana-bleach.jpg)

ข้อดีของอัลบั้มนี้ คือเหมาะสำหรับคนที่ฟัง Nirvana มาเยอะพอสมควรแล้ว อัลบั้มก็พร้อมที่จะให้สีสันใหม่ๆให้แก่ตัวเองได้


ข้อเสียคือเรื่องของเสียงในการอัด ด้วยตามสถานภาพของวงในตอนนั้น และมือกลองยังไม่ใช่ Dave Grohl จึงทำให้กลองมีความแหม่งๆ และยังไม่หนักหน่วงมากพอ มันอาจจะเป็นแค่สำหรับผมนะ (หัวเราะ)


อัลบั้ม Bleach พึ่งครบรอบ 34 ปี ไปเมื่อไม่นานนี้ อัลบั้มที่เป็นตัวตั้งตัวตีให้กับวงที่ไม่รู้ว่าตัวเองจะโด่งดังสุดขีดจนเปลี่ยนโลกดนตรีไปตลอดกาล Nirvana ครับ


หวังว่าทุกคนจะอ่านจนถึงจุดนี้แล้วมีความสุขนะครับ ขอให้สนุกกับการอ่านครับ


อ้างอิง: https://genius.com/artists/Nirvana


เพลงที่แนะนำ: School, Negative Creep, Mr.Moustache  











Comments

Popular posts from this blog

ฟังแล้วจำเลยนำไปเขียน 06 Red Hot Chili Peppers - Californication (1999)

ฟังแล้วจำเลยนำไปเขียน 05 Dream Theater - Octavarium (2005)